ข่าว ทั่วไป

คัดค้าน พ.รบ.ความมั่นคง และการคุกคามสิทธิเสรีภาพในโซเชียลมีเดีย

หยุดดักฟัง หยุดชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” -- จะส่งเสริมเศรษฐกิจยุคข้อมูลข่าวสารได้ ต้องส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารเสียก่อน

เร็วๆ นี้มีการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 10 ฉบับ และยังรอพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ

พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ เป็นห่วงว่าชุดกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับดังกล่าว ที่แม้บางส่วนจะเป็นประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้ว ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการในหลายด้าน ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง และมีลักษณะเหมือนกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” เสียมากกว่า โดยมีข้อสังเกตดังนี้

    ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่
    ชุดกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ถูกเสนออย่างเร่งรีบ ไม่อยู่ในวาระประชุมปกติ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่เคยเห็นร่างมาก่อน จนน่าสงสัยว่าชุดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้างเช่นนี้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่
    มีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือบางกรณีที่มีก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
    ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของหน่วยงานกำกับกิจการ และฉวยโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือรัฐบาลและกองทัพ เหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม

    กองทุนที่มาจากค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียม ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการเข้าถึง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส) กลายเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
    ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ ซ้ำยังมีร่างกฎหมายใหม่ในชุดที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันขึ้นอีก 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน
    ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ -- ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังใช้สำนักงานเลขานุการร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่อาจขัดแย้งกัน จนทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก


ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีส่วนในการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับ ตามรายชื่อด้านล่างนี้ ได้ทบทวนและระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล


หวย99 | Distributed By เว็บหวยออนไลน์ | Designed By หวย99

รูปภาพธีมโดย Bim. ขับเคลื่อนโดย Blogger.