มีคำกล่าวว่า
เรื่องของ “สุขภาพใจ” ส่งผลต่อ “สุขภาพกาย” หาก “ใจป่วย”
กายก็จะป่วยตามไปด้วย จริงหรือไม่จริงอย่างไร โรคต่างๆ
ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องจาก “อารมณ์” ตามที่เป็นข่าวคราวในสังคมปัจจุบันนี้
น่าจะพอเป็น ”บทเรียน” สะท้อนชีวิตกันได้บ้าง
เพราะไม่เพียงแต่
“โรคซึมเศร้า” เท่านั้นที่ฮอตฮิต หากมองให้ดีและลึกลงไป จะเห็นว่า
“โรคมะเร็ง” อันมีผล เกี่ยวเนื่องมาจาก“ความเครียด” ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน
ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถครองแชมป์สาเหตุการตายของคนไทยไว้ได้ถึง 13 ปี
นับตั้งแต่ปี 2543 นี่ยังไม่นับรวมถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ
ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
และมีผลเกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาอารมณ์ของคนเราเอง
ความเครียดก่อโรค?
ถามว่าอารมณ์ของความเครียด
มีอิทธิพลร้ายแรงต่อความเจ็บป่วยจริงๆ น่ะหรือ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล
นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุติกรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต
สสส. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ความเครียดในระยะสั้น
ช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัว มีพลังในการจัดการปัญหาที่ผ่านเข้ามา
แต่ความเครียดที่ต่อเนื่องยาวนาน และแฝงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
จะส่งผลเสียรุนแรงต่อสภาพร่างกายและจิตใจ
กระทบต่อร่างกายทั้งทางระบบฮอร์โมน ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบภูมิคุ้มกัน
โดยความเครียด
จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว หัวใจเต้นเร็วและแรง
เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจตีบเล็กลง ส่งผลต่อเนื่องให้ความดันเลือดสูงขึ้น
ปริมาณน้ำเลือดเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
จึงทำให้เลือดข้นขึ้นและแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ไม่เพียงเท่านี้
ลำไส้ส่วนต่างๆ และระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานได้น้อยลง
ส่งผลให้ความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ลดลงไปด้วย
“ผลที่เกิดขึ้นนี้
จะทำให้เรามีอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง เมื่อยล้า
จากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง
อาหารไม่ย่อย ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยได้ง่าย
ที่สำคัญคือความเครียดสัมพันธ์กับโรคต่างๆ แทบทุกโรค ทั้งเบาหวาน
ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด แผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ
โดยที่การวิจัยนานาชาติเรื่องหัวใจขาดเลือดประเมินว่า
ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาด
เลือดถึงร้อยละ 40” คุณหมอคนเก่งอธิบาย
ที่มาของความเครียด
“การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่ผ่านมา
มีทั้งที่ส่งผลดีและที่ส่งผลเสียต่อจิตใจคนไทย”
นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุติกรมสุขภาพจิตเกริ่นให้ฟัง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า
“แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้คนไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความพอใจในชีวิตสูงขึ้น
แต่การที่พ่อแม่ต้องย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานในเมือง
ปล่อยให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย
สภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวด
ล้อม ผู้คนมีน้ำใจให้แก่กันน้อยลง สังคมแก่งแย่งแข่งขัน
ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ
ล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งผลให้แต่ละคนรู้สึกเครียดง่ายขึ้นและเครียดกันมากขึ้น”
กลวิธีสลายความเครียด
ก้าวแรกของการจัดการความเครียด นพ.ประเวช
แนะนำว่า ต้องรู้จักตัวเองและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่มีต่อร่างกาย
หากมีอาการปวดตึงศีรษะ ปวดเมื่อย จิตใจว้าวุ่น ไม่สงบ อารมณ์เสียง่าย
อาหารไม่ย่อย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฯลฯ อาการทั้งหลายเหล่านี้
คือลางบอกเหตุแล้วว่าคุณกำลังเครียด
“เมื่อรู้ตัวว่าเครียด ก็ต้องรู้จักผ่อนคลาย
ถอยตัวเองออกจากปัญหาที่กำลังประสบอยู่ชั่วคราว
มีทักษะผ่อนคลายเพื่อช่วยพักความคิดและร่างกาย เทคนิคง่ายๆ ที่แนะนำ คือ
การออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ การยืดเหยียดแนวโยคะ
และการฝึกหายใจคลายเครียด เมื่อพักใจได้ดีพอควรแล้ว
ก็ถึงเวลาที่จะหันกลับมาพิจารณาปัญหาที่ทำให้เครียด มีหลักคิดง่ายๆ คือ
มีอะไรที่เราทำได้บ้าง ให้วางแผนลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอน
และมีอะไรที่เราทำไม่ได้ ให้ฝึกใจยอมรับและแก้ที่ใจของเรา”
หรือจะหากิจกรรมสร้างสรรค์ที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด
วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลดีเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่ให้ความสุขกับเราเท่านั้น
คุณหมอบอกว่า ยังมีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินชีวิต
เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้อีกด้วย
โดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาบัญญัติสุข 10 ประการขึ้น
เพื่อใช้เป็นแนวทางสร้างสุขและลดความเครียดได้ บัญญัติสุข 10 ประการ ได้แก่
(1) ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง (2)
ค้นหาจุดแข็ง ความถนัด และศักยภาพ พัฒนาจนความสำเร็จ (3)
ฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยลมหายใจ เช่น โยคะ ไทเก๊ก (4) คิดทบทวนสิ่งดีๆ
ในชีวิต และฝึกมองโลกในแง่ดี (5) บริหารเวลาให้สมดุลระหว่างการงาน
สุขภาพและครอบครัว (6) คิดและจัดการปัญหาเชิงรุก (7)
มองหาโอกาสในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น (8)
ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนา (9)
ให้เวลาทำกิจกรรมความสุขร่วมกับครอบครัวเป็นประจำ (10)
ชื่นชมคนรอบข้างอย่างจริงใจ
ส่วน “ยุคสื่อดิจิตอล”
ความบันเทิงโฉมใหม่จะช่วยสร้างสุขหรือไม่นั้น
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. แนะนำด้วยความเป็นห่วงว่า
จะต้องรู้จักเลือกรับสื่อและข่าวสารต่างๆ ให้ดี เนื่องจากการรับสื่อ
ก็เปรียบได้รับรู้จักเลือกรับประทานอาหาร หากเลือกดีก็มีประโยชน์
แต่ถ้าเลือกไม่ดีก็ย่อมให้โทษเช่นกัน
“สื่อที่ดีจะช่วยกระตุ้นความคิด
เพิ่มการเรียนรู้ ช่วยให้เราเติบโต เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น
ขณะที่สื่อไม่ดี ทำให้เราเคร่งเครียด มองโลกแง่ร้าย
คิดเปรียบเทียบในทางที่ทำให้ตัวเองมีความสุขลดน้อยลง
มีค่านิยมที่ลดความสุขในชีวิต เช่น ค่านิยมวัตถุนิยม อยากได้โน่นได้นี่
จนไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
เราจึงต้องรู้จักที่จะเลือกรับข่าวสารไว้ให้ดีๆ”
อารมณ์ดี ชีวิตดี
คุณหมอประเวช ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า
อารมณ์ดีนอกจากช่วยให้เรารู้สึกเป็นสุขแล้ว
ยังมีผลต่อการทำงานของร่างกายและจิตใจด้วย เพราะในเวลาที่เรารู้สึกเป็นสุข
ผ่อนคลาย ความคิดจะยืดหยุ่นสร้างสรรค์
จึงทำให้คิดแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเวลาที่ชีวิตเคร่งเครียดเรื้อรัง
“จากการศึกษาทางสมองพบว่า
ขณะที่จิตใจสงบเป็นสมาธิ สมองส่วนต่างๆ จะทำงานเชื่อมประสานกันได้ดี
กระบวนการคิด การตัดสินใจจึงมีประสิทธิภาพเฉียบคม ส่งผลให้ชีวิตในด้านต่างๆ
ดีขึ้น นอกจากนี้ ความรู้สึกเป็นสุขยังช่วยให้เรามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
คือ กินผักผลไม้มากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานดี
สุขภาพก็จะดี มีผลให้อายุยืนยาว” คุณหมออธิบาย
เช่นนี้แล้วสำนวนที่ว่า
ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว จึงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง หากรู้จักดูแลจิตใจ
ผ่อนคลายความเครียดถูกวิธี โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย
ย่อมไม่มากล้ำกลายให้ชีวิตต้องทุกข์ร้อน...
เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต